สวทช. ผนึกพันธมิตรรวม 10 หน่วยงานร่วมมือพัฒนา “ฐานข้อมูลและตัวชี้วัด” หนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำนำไทยสู่ Net Zero แข่งขันเวทีโลก

วันที่ 17 กรกฎาคม 2568 ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ: ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เติมศักดิ์ ศรีคิรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ” ร่วมกับผู้บริหารจาก 9 หน่วยงาน ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการบริหารสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.)

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช.เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยและนวัตกรรมให้ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ดำเนินกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “S&T Implementation for Sustainable Thailand” โดยมีสถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ภายใต้ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนแผนงาน “การพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูลด้าน CO2, CE, SDGs เพื่อการค้าและความยั่งยืน มีบทบาทด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจก (GHGs) เศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี พ.ศ.2573 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2593

“การลงนามความร่วมมือในวันนี้ สวทช. จะมีบทบาทเป็นเลขานุการเครือข่ายร่วมกับ สอวช. และเป็นหน่วยงานวิจัยที่ร่วมดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดทำฐานข้อมูล และตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่สำคัญต่อประเทศ สนับสนุนกระบวนการทำงานและกิจกรรมที่เกิดขึ้น ตลอดจนร่วมผลักดันโจทย์วิจัยที่เกี่ยวข้องและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นของสมาชิกเครือข่ายฯ เพื่อให้สามารถผลักดันให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานระดับสากล พร้อมก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้อย่างแท้จริง” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

นางสาววรรณภา คล้ายสวน ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการสร้างความร่วมมือวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศ ที่สามารถนำไปใช้ในการประเมินระดับการพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ เช่น ด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ถูกกำหนดเป้าหมายไว้ในหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อีกทั้งเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เช่น มาตรการของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) ดังนั้นการมีข้อมูลและตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือจะช่วยให้ภาครัฐสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้อย่างแม่นยำ ทันต่อสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพ

รองศาสตราจารย์ วงกต วงศ์อภัย รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)กล่าวว่า สอวช. มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการพัฒนาตัวชี้วัดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Green Enterprise Indicator, GEl) ซึ่งสอดรับกับความร่วมมือระหว่าง 10 หน่วยงานในวันนี้ โดยพร้อมสนับสนุนการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศต่อไป โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นส่วนหนึ่งและเป็นเรือธงของยุทธศาสตร์ สอวช. ที่ตั้งเป้าหมายสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (มสท.)กล่าวว่า มสท. จะร่วมสนับสนุนและเสนอแนะข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเศรษฐกิจการค้าและความยั่งยืน พร้อมเสนอโจทย์งานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้คำปรึกษาทางวิชาการ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเสริมกับศักยภาพของ สวทช. ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดคาร์บอนในภาคส่วนต่าง ๆ จะช่วยยกระดับการใช้ฐานข้อมูลและองค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการกำหนดนโยบาย และการผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม

ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ. มีภารกิจจัดทำนโยบาย แผน มาตรการ กลไก รวมถึงการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติบนพื้นฐานบูรณาการข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับฐานข้อมูลและตัวชี้วัด ความร่วมมือในวันนี้จะเป็นการวางรากฐานเพื่อการขับเคลื่อนประเทศที่สอดรับทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเป้าหมายสากลให้เป็นหนึ่งเดียวกัน นำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

นายกิตติพงศ์ ลิ่มสุวรรณโรจน์ กรรมการบริหารสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ... กล่าวว่า สอท. จะมีบทบาทในการสนับสนุนข้อมูลความต้องการและความเร่งด่วนของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้การพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและการลงทุน พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ เสนอแนะแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของไทย และให้การสนับสนุนทั้งด้านความร่วมมือและองค์ความรู้จากเครือข่ายภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะยาว รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยบนเวทีโลก

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กสอ. กล่าวว่า กสอ. มีบทบาทในการพัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs จึงให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมขีดความสามารถทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงส่งเสริมให้ SMEs นำแนวคิด BCG มาปรับใช้ในธุรกิจ พร้อมส่งเสริมด้านการปรับปรุงกระบวนปารผลิตและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมตามแนวทางอุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยึดมั่นในการรับผิดชอบต่อสังคมโดยรอบ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการลดก๊าซเรือนกระจก สู่มาตรฐานสิ่งแวดล้อม

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกลางด้านสถิติของประเทศ จะร่วมพัฒนาและบริหารจัดการฐานข้อมูลและตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการสร้างสถิติทางการที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและการติดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในระดับชาติและสากล สสช. จะเป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพในอนาคตที่สมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า อบก. เป็นหน่วยงานรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตามมาตรฐานสากล มีบทบาทสำคัญในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งในการลงนามครั้งนี้ อบก. จะร่วมบริหารจัดการเครือข่าย ให้คำแนะนำการจัดทำข้อมูลสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับบริบทไทย และสนับสนุนกิจกรรมของภาคีเครือข่าย เพื่อให้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความน่าเชื่อถือ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ มุ่งสู่ Net Zero Emissions ภายในปี 2065

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานหลักด้านนโยบายและมาตรการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมลงนาม MOU พัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำเชิงนโยบาย เสนอโจทย์วิจัยและเทคโนโลยี รวมถึงสนับสนุนการจัดทำข้อมูลและงบประมาณ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำของประเทศไทย และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายความยั่งยืนระดับโลก

More From Author

กลับมาอีกครั้ง! เทศกาลอาร์ตทอยไทย Thai Art Toy Fest : สยามเด็กเล่น @Saim Centerตอน “Eastern Secrets : ตามหา (ความลับ) ภาคตะวันออก” 26-27 กรกฎาคม 2568 ณ Atrium 2 ชั้น G Siam Center

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *