“ARDA ขานรับนโยบายรมว.เกษตรฯปลุกพลังวิจัยใจกลางเมือง!!! โชว์ 14 นวัตกรรมจากแล็บสู่ไร่เปลี่ยนโฉมเกษตรไทยสู่อนาคตเกษตรอัจริยะ”

วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA เปิด 14 นวัตกรรมวิจัยจากแล็บสู่ไร่ ตอบโจทย์เกษตรมูลค่าสูง สู่ความยั่งยืน ใช้ได้จริงภายใต้กิจกรรม “ARDA Mini Press @ KU” พร้อมขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรอัจฉริยะเกษตรเพิ่มมูลค่าเกษตรยั่งยืนโดยเน้นการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ผ่านการใช้งานวิจัยและนวัตกรรมจริงในภาคเกษตรพร้อมประกาศความร่วมมือกับภาควิชาการในการเร่งยกระดับผลผลิตเกษตรปลอดภัย สร้างมูลค่าเพิ่ม รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ภายใต้แนวทาง BCG Economy มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ARDA ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยไทยให้ก้าวข้ามจากการสร้างองค์ความรู้ให้สู่การเป็นเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยให้เกษตรกรรับมือการแข่งขันและมาตรการกีดกันทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขานรับนโยบายของนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมุ่งเน้นการสร้างงานวิจัยที่สามารถต่อยอดสู่เกษตรกรได้จริง เช่น การพัฒนาสายพันธุ์พืช เกษตรแม่นยำ นวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงการรับมือภัยพิบัติแบบครบวงจร ทั้งการป้องกัน ฟื้นฟู และสร้างอาชีพใหม่

สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ARDA จัดขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU) เพื่อนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนผลงานวิจัยจากแล็บสู่ไร่อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง KU ถือเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีนักวิจัยที่มีศักยภาพในการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ภาคการเกษตรที่สำคัญ ถือเป็นหนึ่งในพันธมิตรสำคัญของ ARDA สนับสนุน โดยได้รับทุนวิจัยอย่างต่อเนื่องมากถึง 533 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 121 ล้านบาท นำมาสู่ผลงานนวัตกรรมที่ตอบโจทย์เกษตรกรทั่วประเทศ (ข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 – 2568 วันที่ 24 มิ.. 68)  โดยคัดเลือกผลงานเด่น 14 ชิ้นจาก 8 โครงการวิจัยของ KU มาจัดแสดง ได้แก่ นวัตกรรมส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เพิ่มรายได้ ใช้พื้นที่ว่างในช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา ลดความเสี่ยงจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เช่น

     🌱 KU ARDA 20 – ถั่วลิสงพันธุ์ใหม่ โตเร็ว ฝักใหญ่ ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวใน 100 วัน ให้ผลผลิตสูงถึง 400 กก./ไร่ ปัจจุบันขยายผลใช้ใน 14 จังหวัด สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้แล้วกว่า 45,600 กก. ในพื้นที่ 152 ไร่ สร้างมูลค่ารวมกว่า 8 ล้านบาท 

     🌽 ข้าวโพดสุวรรณ 5720/5821 – ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์ใหม่ทางเลือกแทนนาปรัง เพิ่มรายได้ 1,000 –2,000 บาท/ไร่  ปัจจุบันผลิตเมล็ดพันธุ์สุวรรณ 5720 ขายให้แก่เกษตรกรปีละประมาณ 20 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 78 ล้านบาท/ปี

    🌾 ถั่วเหลืองเกษตรศาสตร์ 80 – สายพันธุ์ใหม่โปรตีนสูงปลอดจีเอ็มโอรับมือวิกฤตนำเข้า ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 350 กก./ไร่ สูงกว่าวิธีเดิมถึง 16% ปัจจุบันมีการขยายผลในพื้นที่ 4 จังหวัด รวมกว่า 1,000 ไร่ 

    🌾นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเหลือใช้ทางการเกษตรสู่ผลิตภัณฑ์เกษตรมูลค่าสูงภายใต้โครงการการบริหารจัดการ RAINs for Central Food Valley by KU” อาทิ กระดาษซับมันจากเปลือกทุเรียนใบสับปะรด ที่สลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผง MCT จากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ที่สายสุขภาพต้องหามาเติมกาแฟทุกเช้า หรือแม้แต่แป้งวีแกนที่ผลิตจากกากถั่วเหลืองเหลือใช้ในโรงงาน ฯลฯ สอดรับกับเทรนด์โลกที่เน้น Zero Waste – Circular Econom

           “เรามองว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไม่ใช่แค่แหล่งวิชาการ แต่คือพันธมิตรหลักที่ร่วมกันเปลี่ยนอนาคตของภาคการเกษตรไทยผ่านงานวิจัย เราให้ทุนวิจัยเพราะเรามั่นใจว่างานวิจัยจากที่นี่ไม่จบงานแค่ในห้องแล็บแต่พร้อมขยายผลต่อยอดสร้างผลกระทบเชิงบวกได้จริงในแปลงของเกษตรกร เพราะสำหรับ ARDA งานวิจัยไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่มันคือคำตอบในการพาเกษตรกรไทยไปให้รอดในโลกที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปดร.วิชาญฯ กล่าว 

รศ. ดร.วราภา มหากาญจนกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า KU พร้อมขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ด้วยความเชี่ยวชาญของนักวิจัยที่ครอบคลุมทุกมิติของระบบเกษตรไทย และโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และเครือข่ายนักวิจัยและระดับประเทศนานาชาติ โดยการสนับสนุนของ ARDA จะเป็นแรงผลักสำคัญในการเปลี่ยนองค์ความรู้ให้เป็นผลผลิตจริง ช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรไทยอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้จากที่ผ่านมา KUสามารถพัฒนาผลงานวิจัยต้นแบบสำคัญได้ในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำเครื่องจักรกลอัตโนมัติ การแปรรูปสินค้าเกษตรเพิ่มมูลค่า ระบบบริหารจัดการน้ำดินพืชแบบยั่งยืน ฯลฯ

สำหรับในวันนี้ ทาง KU ได้คัดเลือกผลงานวิจัยที่ช่วยเสริมศักยภาพเกษตรกรในการยกระดับสินค้าเกษตร ซึ่งป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และหนึ่งในไฮไลต์ คือโครงการ “RAINs for Central Food Valley” ซึ่งเป็นต้นแบบ “Food Valley ภาคกลางโครงการนี้เป็นความตั้งใจของ ARDA ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม (Research and Innovation Network Support) เพื่อยกระดับระบบการผลิตอาหารของไทยให้เข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม ผ่านการใช้นวัตกรรมการแปรรูปที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสมัยใหม่ และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 

ด้วยมาตรฐานสากล ทดแทนการนำเข้าและรองรับตลาดส่งออกทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือและผลผลอยได้ทำให้ไม่มีของเหลือทิ้งในทุกกระบวนการผลิต ลดการเกิด Food Waste อย่างไร้ประโยชน์ ARDA ตั้งเป้าหมายว่า โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้ มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านบาท ภายในปี 2570

นอกจากนี้ ยังได้มีการนำผลงานวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างมูลค่าเพิ่มจากส่วนเหลือและผลพลอยได้ของผลิตผลทางเกษตรมาร่วมโชว์ด้วย อาทิถั่วเหลืองโปรตีนเกษตรสายพันธุ์ไทยพลิกของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมอาหาร สู่โปรตีนทางเลือก ลดนำเข้า 100% ปั้นโอกาสใหม่ให้เกษตรกรผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ยังมีสับปะรดไทยสู่ไซเดอร์ผงสุขภาพคอมบูชาสายพันธุ์ไทยผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์ตลาดสุขภาพ ที่นำกากชาจากการหมักคอมบูชาไปพัฒนาเป็นวุ้นสวรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่จากของเหลือ ปลอดภัยตามมาตรฐาน อย. พร้อมต่อยอด SCOBY ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการหมักไปพัฒนาเป็นหัวเชื้อสำหรับผลิตเครื่องดื่มสุขภาพ ส่งเสริมแนวทาง Zero Waste อย่างเป็นรูปธรรม ฯลฯ

      “แน่นอนว่าทุกการลงทุนของ ARDA ที่ให้กับ KU เพื่อพัฒนางานวิจัยคุณภาพ โดยมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรมที่สามารถส่งต่อสู่เกษตรกรได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจสังคมรศ. ดร.วราภาฯ กล่าว 

ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปงานวิจัยไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว หากแต่คือหัวใจสำคัญของการยกระดับภาคเกษตรอย่างยั่งยืน วันนี้ ARDA และ KU ได้แสดงให้เห็นว่า นวัตกรรมไทยก็มีศักยภาพไม่แพ้ใคร ขอแค่เชื่อมั่นในพลังวิจัย และกล้าต่อยอดให้ถึงมือเกษตรกรจริงเพราะอนาคตของเกษตรไทยไม่ได้อยู่ที่ใครช่วยเราแต่อยู่ที่ว่าเราจะกล้าขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยหรือไม่

More From Author

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าปั้น “สมุนไพรไทย” สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ เสริมแกร่งเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานการผลิต–แปรรูป พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางสมุนไพรคุณภาพในอาเซียน”

“สอน.” จับมือ “ไทยคม” เปิดตัว แพลตฟอร์มติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) และ AIหวังต่อยอด ขยายผลลดมลภาวะทางอากาศ และค่าฝุ่น PM 2.5

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *