กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าปั้น “สมุนไพรไทย” สู่พืชเศรษฐกิจใหม่ เสริมแกร่งเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ยกระดับมาตรฐานการผลิต–แปรรูป พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางสมุนไพรคุณภาพในอาเซียน”

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ท่ามกลางกระแสรักสุขภาพที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สมุนไพรไทยไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกด้านการรักษาโรค แต่ยังกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเดินหน้าผลักดันสมุนไพรไทย สู่การเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ภายใต้โครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ประจำปี 2568 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและยกระดับธุรกิจสมุนไพรให้แข็งแกร่งทั่วประเทศ 

กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนเครือข่ายความเข้มแข็งและพัฒนาธุรกิจพืชสมุนไพร” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2566–2570) โดยตั้งเป้าหมายให้มูลค่าของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 เท่าตัว พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกสมุนไพรชั้นนำในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าววางอยู่บนกรอบยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตและแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรให้ได้มาตรฐาน, การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสมุนไพรตลอดห่วงโซ่อุปทาน, การส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร, การบริโภคอย่างเหมาะสมและยั่งยืน และการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ มุ่งเน้นดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ 1 ซึ่งครอบคลุมมาตรการพัฒนาเครือข่ายเกษตรกร สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ได้ผลผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน โดยตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตวัตถุดิบสมุนไพรที่ได้รับรองมาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 และเพิ่มมูลค่าการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ทั้งนี้เพื่อยกระดับสถาบันเกษตรกรให้เป็นกำลังสำคัญในการผลิตและพัฒนาสมุนไพรไทยที่ตอบโจทย์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และความยั่งยืน

ทั้งนี้ จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงเดินหน้าส่งเสริมองค์ความรู้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร เพื่อให้สามารถผลิตสมุนไพรที่มีคุณภาพปลอดภัยต่อผู้บริโภคพร้อมต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่มีมูลค่าและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยได้คัดเลือกพืชสมุนไพรเป้าหมายที่มีศักยภาพโดดเด่นจำนวน 15 ชนิด แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสมุนไพรศักยภาพ เช่น กระชายดำ กวาวเครือขาว ขมิ้นชัน มะขามป้อม และใบบัวบก กลุ่มสมุนไพรที่มีความต้องการในตลาด เช่น ไพล ขิง ว่านหางจระเข้ มะระขี้นก เพชรสังฆาต กระชาย และฟ้าทะลายโจร และกลุ่มสมุนไพรที่เป็นนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ กัญชง กัญชา และกระท่อม โดยสมุนไพรเหล่านี้ถูกส่งเสริมให้ปลูกในพื้นที่ “เมืองสมุนไพร” จำนวน 16 จังหวัดทั่วประเทศ เช่น เชียงราย อุดรธานี สกลนคร พิษณุโลก สุรินทร์ จันทบุรี สงขลา เป็นต้น ซึ่งแต่ละจังหวัดล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมและมีศักยภาพในการเพาะปลูก เพื่อสร้างแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ

“สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับสถาบันเกษตรกร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจสมุนไพรอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งด้านการผลิตตามมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ ด้านการลดต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการแปรรูปและวางแผนการตลาด และด้านการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อขยายตลาดและเพิ่มมูลค่า ปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1,460 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 2,265 ไร่ ในสถาบันเกษตรกร 73 แห่ง กระจายอยู่ใน 32 จังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการส่งเสริมพืชสมุนไพรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวหน้าในอนาคต” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

More From Author

เครือ รพ.พญาไท–เปาโล เปิดสนาม Formula5 จัดแข่งขัน The pPitch Awards 2025 จุดพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยและอนาคตสุขภาพไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *