4 กรกฎาคม 2568 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  จัดประชุมระดมความคิด (Brainstorm) หัวข้อประเทศไทยกับการเป็นศูนย์กลางกิจการอวกาศสำหรับภูมิภาคอาเซียนโดยมีผู้บริหารระดับสูงร่วมขับเคลื่อนแนวทางสำคัญครั้งนี้ ได้แก่  ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA, ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รองผู้อำนวยการ GISTDA และ ดร.จิตติ มังคละศิร รองผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) พร้อมด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษากว่า 50 หน่วยงานทั่วประเทศ ห้องประชุมพระอินทร์ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว โดยมุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางกิจการอวกาศของอาเซียน (Thailand as a Gateway to ASEAN) ผ่านการเสริมสร้างทักษะ (Upskilling) และการพัฒนาทักษะใหม่ (Reskilling) โดยเฉพาะในสาขาอาชีพแห่งอนาคต เช่น วิศวกรรมดาวเทียม การวิเคราะห์ข้อมูลจากอวกาศ ระบบ GNSS การสื่อสารดาวเทียม และ AI for Space ซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ การบิน โลจิสติกส์อัจฉริยะ ดิจิทัลเทคโนโลยี และความมั่นคงเชิงพื้นที่

หนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุม คือ เร่งผลักดันให้หลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศในระดับอุดมศึกษา ดำเนินการอยู่บนฐานมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่ถูกต้องและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมุ่งให้ผู้เรียนไม่เพียงแต่มีความรู้เชิงวิชาการ หากแต่สามารถสอบผ่านมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และใช้ได้จริงในตลาดโลก ซึ่ง GISTDA อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เช่น สคช., สวทช., บพค., อว. และองค์กรวิชาชีพนานาชาติ เพื่อบูรณาการแนวทางสู่ระบบรับรองที่เข้มแข็งและมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้ แผนการพัฒนาบุคลากรยังครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำอย่างเป็นระบบ โดยต้นน้ำมุ่งสร้างแรงบันดาลใจและทักษะพื้นฐานด้าน STEM แก่เยาวชน กลางน้ำคือการสนับสนุนหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมและปลายน้ำคือการเสริมทักษะและฝึกอบรมแก่แรงงานเพื่อเข้าสู่ภาคผลิตจริงในอุตสาหกรรมอวกาศรวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวได้ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

ในเวทีนี้ GISTDA ได้ขับเคลื่อนการสร้างความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศที่เปิดสอนหรือกำลังพัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งในด้านการพัฒนาเนื้อหาวิชาให้ทันสมัย บูรณาการข้ามศาสตร์ และสนับสนุนการเรียนรู้แบบสหกิจศึกษาหรือฝึกงานในภาคอุตสาหกรรมจริง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาไปเป็นบุคลากรคุณภาพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง เวทีประชุมยังเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ทั้งในด้านการสำรวจหลักสูตรอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีอวกาศระดับโลกและภูมิภาค ตลอดจนการระบุช่องว่างระหว่างความต้องการของอุตสาหกรรมกับระบบผลิตบุคลากรของประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีเป้าหมายชัดเจน และสามารถติดตามความก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนในครั้งนี้ สอดคล้องกับร่างแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำโดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในมิติสังคมและกำลังคน ที่กำหนดให้การพัฒนาบุคลากรด้านอวกาศอย่างเป็นระบบเป็นกลยุทธ์หลักในการเตรียมประเทศให้สามารถแข่งขันและสร้างโอกาสในเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ความร่วมมือกับเครือข่ายภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และองค์กรวิจัย จะเป็นกลไกสำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

GISTDA พร้อมทำหน้าที่เป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือระดับประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อยกระดับหลักสูตรและระบบรับรองวิชาชีพให้เท่าทันมาตรฐานสากล และตอบโจทย์ตลาดแรงงานแห่งอนาคตในระบบเศรษฐกิจอวกาศ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น