วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดกิจกรรมเปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2569 (NRCT Open House 2025) และการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม “ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย ตลอดจนผู้สนใจด้านการวิจัยและนวัตกรรมเข้าร่วม ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  อาคาร วช.1

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การเตรียมความพร้อม ให้แก่ นักวิจัย ผู้บริหารและผู้ประสานงานของหน่วยวิจัย ในการเตรียมข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อขอรับทุนประจำปีงบประมาณ 2569 โดย วช. มุ่งมั่นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม พร้อมกับประชาคมวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ ผลิตผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพและประสิทธิภาพสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกิดการขยายเครือข่ายวิจัยในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีการมุ่งเน้นจัดการปัญหาสภาพอากาศรุนแรงแบบสุดขั้ว มลพิษอากาศ น้ำ ดิน ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาระบบนิเวศ และทรัพยากรทั้งป่าไม้และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำกรอบแนวคิดการวิจัยและนวัตกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ เช่น มลพิษทางอากาศ PM2.5 และพลังงาน เป็นต้น การลดความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น แผ่นดินไหว และการบริหารจัดการน้ำระดับพื้นที่ เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแก่ประเทศ

ภายในงาน ประกอบด้วยการเสวนา ประเด็นต่าง ดังนี้

ประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงาน P15 โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา คณะกรรมการอำนวยการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม วช.

ประเด็นเศรษฐกิจสีน้ำเงินโดย ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ประเด็นนิเวศมลพิษในภาคอุตสาหกรรมโดย ดร.ปัทมวรรณ คุณประเสริฐ ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม

ประเด็น “Zero Waste” และมลพิษอากาศและ PM2.5” โดย นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ 

ประเด็นพลังงานโดย นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ประเด็นมุ่งเน้นภายใต้แผนงาน P16 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อำนาจ ชิดไธสง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานและเผยแพร่ผลการวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ วช.

ประเด็นภัยพิบัติทางธรรมชาติโดย นางสาวดวงนภา อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดร.วีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กรมทรัพยากรธรณี และ ดร.ธนิต ใจสอาด ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง

ประเด็นการปรับตัวต่อความผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดย ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา และนางรสริน อมรพิทักษ์พันธ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแนวทางและศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการเสวนาครั้งนี้ มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการเขียนข้อเสนอให้ตรงจุด 

จากนั้น ได้มีการนำเสนอวีดิทัศน์การแนะนำการใช้งานระบบ NRIIS” โดย กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และวีดิทัศน์แนะนำมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยโดย กองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเสริมความเข้าใจในการยื่นข้อเสนอโครงการอีกด้วย

ถัดมา เป็นการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดย นางสาวกรรณิกา ดุรงคเดช ผู้อำนวยการภารกิจการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วม พร้อมตอบข้อซักถามและสะท้อนมุมมองจากประสบการณ์ตรงในการบริหารจัดการทุนวิจัย

ช่วงบ่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นต่าง  

ดังนี้ 

ประเด็นเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์แผ่นดินไหวจากเมียนมาสู่ กทม. และบทบาทของ ววน.”โดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนางสาวหรรษา อมาตยกุล ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรมทาง 1 สำนักงานวิศวกรรมทาง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร

ประเด็นเรื่องเชื้อดื้อยาจัดการอย่างไร ด้วยวิจัยและนวัตกรรมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรกานติ์ บรรเจิดกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายวาทิน ถนอมนุช หัวหน้ากลุ่มงานโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

ประเด็นเรื่องต้นตอปัญหาไฟป่าและกระบวนการจัดการความขัดแย้งด้วยพหุศาสตร์โดย อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายธงชัย นาราษฎร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพปุย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ประเด็นเรื่อง “Upgrade การจ่ายน้ำชลประทานด้วยแพลตฟอร์มระบบปฏิบัติการส่งน้ำอัจฉริยะโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนายประเสริฐ ล่ำภากร วิศวกรชลประทานชำนาญการ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัว กรมชลประทาน ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม โดยนักวิจัยได้ร่วมกันให้แนวทางในการจัดทำข้อเสนอ ตลอดจนตอบข้อซักถามที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเสวนาในวันนี้

NRCT Open House 2025 เปิดบ้านชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2569 พร้อมการแถลงผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอด 9 วัน โดยการชี้แจงตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้าใจถึงแนวทางการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยในแต่ละมิติ ตลอดจนถ่ายทอดผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานวิจัยที่ผ่านมา ทั้งในด้านกรอบแนวคิด หลักเกณฑ์ และเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของการให้ทุนตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซักถามประเด็นเชิงวิชาการและการปฏิบัติ อันจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพข้อเสนอการวิจัยในอนาคต

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *