นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ และห้องประชุมกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย นายโอภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และตัวแทนกน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้นายอลงกรณ์ กล่าวว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีการสั่งการให้เร่งดำเนินการตามนโยบายแผนพัฒนาเกลือทะเลไทยปี2566 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 1ตุลาคม พร้อมกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่13 ให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งมอบหมายฝ่ายเลขาฯ ประสานสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ (ทูตเกษตร) เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทยในการประชุมครั้งหน้า เพื่อให้ข้อมูลด้านเกลือ ผลิตภัณฑ์เกลือและตลาดเกลือในต่างประเทศ รวมทั้งข้อเสนอแนะจากทูตเกษตร ในด้านการขยายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศ ด้วย

นอกจากนี้ได้กำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่เพชรบุรีเป็นจังหวัดแรกในวันที่ 9 กันยายน 2565 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบายของโดยขอให้สถาบันพัฒนาเกลือทะเลไทยเป็นผู้นำเสนอผลงานด้วยพร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมและพัฒนาแบรนด์จังหวัดเพชรบุรี และการคิกออฟโครงการส่งเสริมสาหร่ายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ตามนโยบายอาหารแห่งอนาคต ในจังหวัดเพชรบุรี มีศูนย์วิจัยทรัพยากรประมงชายฝั่งและศูนย์เพาะเลี้ยงน้ำจืด กรมประมง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ การแปรรูป และการตลาด โดยสามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายหรือทำนาสาหร่ายประกบคู่กับนาเกลือ นากุ้งเป็นรายเสริมแบบเกษตรไฮบริดจ์

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้รับทราบ รายงานผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรนาเกลือทะเล พื้นที่การผลิตเกลือทะเลและปริมาณเกลือทะเล ปีการผลิต 2564/2565 มีเกษตรกรขึ้นทะเบียน 723 ครัวเรือน จำนวน 1,211แปลง พื้นที่ 13,408 ไร่ มีปริมาณผลผลิตคงค้างในยุ้งฉาง จำนวน 13,408 ตันผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ก่อให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมหลายประการได้แก่ การทำแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ 2566-2570 การแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร การฟื้นฟูพิธีแรกนาเกลือและพิธีทำขวัญเกลือ การขับเคลื่อนและผลักดันให้มีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) มีเกษตรกรผ่านการรับรองแล้ว จำนวน 11 ราย พื้นที่ 809.39 ไร่ การแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาเกลือทะเลไทย การแก้ไขปัญหาเกลือทะเลค้างสต็อก โดยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยส่วนต่างราคาขายเกลือทะเลให้กับเกษตรกร จำนวน 111 ราย ปริมาณเกลือทะเล 39,841.167 ตัน ค่าชดเชยส่วนต่างราคาเกลือทะเลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นเงิน จำนวน 9,960,291.75 บาท การจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานและเกณฑ์การพิจารณาความเสียหายสำหรับบรรจุในคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เกิดความรวดเร็ว ถูกต้อง ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ โดยการช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เสียหายจริง ในอัตราไร่ละ 1,220 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ ในปี 2565 มีเกษตรกรจังหวัดเพชรบุรี ได้รับการช่วยเหลือ 80 ราย พื้นที่ 719.50 ไร่ เป็นเงินรวม 877,790 บาท การส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลให้เป็นมรดกทางการเกษตรของโลก การกำหนดแนวทางการส่งออกเกลือทะเลไปต่างประเทศ เพื่อใช้งานด้านต่าง ๆ เช่น เกลือสำหรับละลายหิมะบนถนนหรือรันเวย์สนามบิน การตรวจเยี่ยมหน่วยงานและภาคีเกษตรกร จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และจังหวัดจันทบุรี โดยเน้นติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานการพัฒนาเกลือทะเลไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงการผลิตเกลือกับผู้ประกอบการที่ใช้เกลือเป็นวัตถุดิบและผู้ค้าส่งเกลือทะเล และสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้จากนาเกลือทะเลมาในการปลูกไม้ผล

โดยการประชุมครั้งนี้มีการรายงานแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีกิจกรรมในการพัฒนาเกลือทะเลภายใต้ 5 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมการขับเคลื่อนการบริหารจัดการเกลือทะเลไทย กิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาเกลือทะเลเพื่อลดต้นทุนการผลิต กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนเกลือทะเล กิจกรรพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการผลิตเกลือทะเล และกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลเป็นมรดกทางการเกษตรโลก (GIAHS) ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯ ขอให้หน่วยงานที่มีแผนปฏิบัติการพัฒนาเกลือทะเลไทย ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ส่งให้ฝ่ายเลขาฯ รวบรวมและจัดทำแผนการบูรณาการดำเนินการ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2565 ต่อไป

ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเกลือทะเลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาเกลือทะเล จำนวน 110 ราย รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาดของฟาร์ม แผนปรับปรุงกระบวนการผลิต และความสามารถในการชำระเงินกู้ โดยให้ใช้หลักประกันตามวิธีปฏิบัติปกติของ ธ.ก.ส. และอื่นๆ ที่ ธกส. กำหนด กรณีผู้กู้ที่เป็นรายบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR ต่อปี ผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคล คิดดอกเบี้ยในอัตรา MLR ต่อปี โดยเรียกเก็บจากผู้กู้รายบุคคลอในอัตรา MRR-3 ผู้กู้ที่เป็นนิติบุคคลในอัตรา MLR-3 และกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันกู้ หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการชดเชยคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ ธ.ก.ส. กรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ธนาคารคิดดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินส่วนที่ไม่ได้ชำระตามกำหนดเพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญา อีกร้อยร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ โดยให้ชำระเสร็จสิ้นไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันกู้ ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่คณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คบท.) มีมติอนุมัติ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ธ.ก.ส. กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาข้อมูลต้นทุนการปรับปรุงยุ้งฉางแต่ละขนาด และงบประมาณวงเงินในการปรับปรุงยุ้งฉางสำหรับเก็บเกลือของเกษตรกรด้วย

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโครงการสินเชื่อชะลอการขายเกลือทะเล ปีการผลิต 2565/66 โดยชุมนุมสหกรณ์เกลือทะเลไทย เพื่อชะลอการขายเกลือทะเล ราคาคงที่ ในราคา 1.50 บาท ต่อกิโลกรัม บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรนาเกลือด้านค่าใช้จ่ายในครอบครัวและหนี้สิน และยกระดับราคาเกลือให้สูงขึ้น รักษาราคาให้มีเสถียรภาพ ซึ่งที่ประชุม ให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ วิธีการ และแนวทางการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว และมอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ธ.ก.ส. กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากโครงการสินเชื่อชะลอการขายสินค้าเกษตรอื่น เช่น ข้าว ผลไม้ (ลำไย) ยางพารา และควรให้มีโครงการเสริมสร้างสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตด้วย

นายอลงกรณ์บอกด้วยว่าที่ประชุมพิจารณาได้เห็นชอบในการปรับแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาเกลือทะเลไทย ในปี พ.ศ.2565-2566 เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวมากขึ้นด้วย และในการจัดงานพิธีแรกนาเกลือ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเกลือทะเลเป็นมรดกทางการเกษตรของโลก เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ ประเพณี สู่การท่องเที่ยว ให้ประสานทาง ททท. ร่วมด้วย โดยอาจจะจัดให้มีการจัดกิจกรรมอื่นเสริมในงาน เช่น การเดินวิ่งเพื่อสุขภาพ การปั่นจักรยาน เป็นต้น
ในส่วนวาะการประชุมอื่น ๆ ผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศ รายงานการนำเข้าเกลือจากต่างประเทศ ทั่วโลกปี 2565 ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. มีปริมาณการนำเข้าเกลือ 98,985 ตัน มูลค่า 164,399,917 บาท มีพบว่าปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน ม.ค.-ก.ค. มีปริมาณการนำเข้า 80,750 ตัน มูลค่า 151,481,437 บาท และยังได้เสนอถึงแนวทางในการยกระดับการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและให้ทางสถาบันเกลือทะเลไทยศึกษาในรายละเอียดต่อไปด้วย

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *