มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Protection Network Foundation: LPN) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อบูรณาการทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ เดินหน้าจัดอบรม และสานต่อโครงการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” สร้างความมั่นใจว่าพนักงานของซีพีเอฟทุกคนและทุกระดับได้รับการคุ้มครองสิทธิและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ตอกย้ำองค์กรชั้นนำที่ดำเนินงานด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างในทุกระดับ

นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ มูลนิธิ LPN กล่าวว่า ความร่วมมือกับซีพีเอฟก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 เพื่อร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงาน เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิของตนอย่างเสมอภาค โดยปีนี้ มูลนิธิ LPN จะจัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนให้กับพนักงานของซีพีเอฟ ให้มีความรู้และเข้าใจกฎหมายแรงงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และดำเนินการศูนย์รับฟังเสียงพนักงาน “Labour Voices Hotline by LPN” โดยมูลนิธิฯ เป็นตัวกลางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อร้องเรียนจากพนักงานที่มีความหลากหลายในประเด็นเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ เป็นต้น เพื่อช่วยให้บริษัทฯ รับทราบปัญหาหรือข้อเสนอแนะของพนักงานเพื่อนำไปพัฒนาและจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ได้ในเวลาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือในปีนี้ มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินกิจกรรมกับพนักงานต่างชาติอย่างใกล้ชิด เช่น การเข้าเยี่ยมและพูดคุยกับพนักงานต่างชาติถึงหอพัก (Focus Group) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและรับรู้ถึงความคาดหวังต่าง ๆ นำไปสู่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมทั้งสร้างบรรยากาศการทำงานที่มีความเข้าใจด้านความแตกต่างและการเคารพซึ่งกันและกัน อีกทั้งกิจกรรมความร่วมมือยังครอบคลุมถึงการตรวจสอบกระบวนการจ้างงานอย่างมีจริยธรรม (Ethical Recruitment) และส่งเสริมให้ตัวแทนจัดหาแรงงานที่ประเทศต้นทางจัดหาแรงงานด้วยความรับผิดชอบ และโปร่งใส ป้องกันปัญหาการจ้างงานผิดกฎหมาย แรงงานขัดหนี้ แรงงานบังคับ และปัญหาการค้ามนุษย์

“มูลนิธิ LPN เห็นผลลัพธ์จากความร่วมมือกับซีพีเอฟ ช่วยสร้างผลดีต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานซีพีเอฟทุกคน โดยเฉพาะพนักงานต่างชาติ ดำรงชีวิตและทำงานในประเทศไทยได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรี เป็นการสร้างมาตรฐานองค์กรที่สนับสนุนการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งตรงกับความมุ่งมั่นของมูลนิธิฯ ที่ต้องการสนับสนุนให้แรงงานต่างชาติทุกคนมีความเป็นอยู่ที่ดีและได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค” นายสมพงค์กล่าว

ด้าน นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ ในฐานะประธานความมุ่งมั่นด้านสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ความร่วมมือกับมูลนิธิ LPN ซึ่งเป็นองค์กรประชาสังคมที่มีความเชี่ยวชาญในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิแรงงาน มีส่วนช่วยให้ซีพีเอฟดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการเคารพสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ โดยการอบรมพนักงานและการจัดให้มีช่องทางการรับฟังเสียงของพนักงานผ่านองค์กรกลางเป็นพื้นฐานของการส่งเสริมสิทธิในการสื่อสารตามหลักสิทธิมนุษยชน เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคน ทุกสัญชาติ และทุกระดับได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น ตามเป้าหมายกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน CPF 2030 Sustainability in Action โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติ บรรลุ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)

จากความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงการดำเนินงานด้านความหลากหลายและความแตกต่าง และมีการรายงานข้อมูลอย่างรอบด้านและโปร่งใส ส่งผลให้เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้รับรางวัล “รายงานความยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับภูมิภาคเอเชีย” Asia Sustainability Reporting Awards (ASRA) 2021 โดยสามารถคว้ารางวัลระดับ Gold Class ซึ่งเป็นรางวัลระดับสูงสุด ในประเภท Asia’s Best Sustainability Report (Human Rights)

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น