ปลดล็อคพลาสติกจากร่างแห ผ่านงานนิทรรศการการเดินทางของขยะพลาสติกสู่การแก้ปัญหา

กรุงเทพฯ / 10 กุมภาพันธ์ 2565 – ท่องไปในโลกใต้ท้องทะเลและสัมผัสความงามและความท้าทายได้แล้ววันนี้ ณ ใจกลางกรุงเทพฯ กับ “TANGLED: ติด – ร่าง – แห” นิทรรศการที่นำเสนอการเดินทางของขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นิทรรศการ “TANGLED: ติด – ร่าง – แห”  จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของมูลนิธิความยุติธรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation) และมูลนิธิรักสัตว์ป่า (Love Wildlife Foundation) ด้วยการสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเลโดยสหภาพยุโรปและกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับองค์กร Norwegian Retailer’s Environment Fund และมูลนิธิ Rufford

ผู้เข้าชมสามารถเรียนรู้ผลกระทบของขยะพลาสติก เครื่องมือประมง และพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวผ่านงานศิลปะและภาพถ่าย พร้อมเปิดประสบการณ์ TANGLED: ติด – ร่าง – แห และเรียนรู้วิธีในการลดขยะทะเล ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก

ในช่วงพิธีเปิด ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เน้นย้ำว่า “วิธีที่ใหม่และดีกว่าในการลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิลพลาสติกกำลังมีความสำคัญมากขึ้นและถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เราควรนำไปปรับใช้ เนื่องจากปัจจุบันเกิดการสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก ที่ทรัพยากรจะถูกนำมาใช้และจัดการอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้นกว่าเดิมในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างสรรค์ในการส่งสารเหล่านี้ออกไป เพื่อให้ผู้เข้าชมตื่นตาตื่นใจ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายใต้วิถีชีวิตที่ยั่งยืน ผมรู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่สหภาพยุโรปได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนิทรรศการนี้ผ่านโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อผลักดันการดำเนินงานไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกและป้องกันขยะพลาสติกไม่ให้ลงสู่มหาสมุทร เราสนับสนุนโครงการโดยร่วมมือกับรัฐบาลเยอรมนีและทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานไทยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราจัดการกับขยะในทะเลและเผชิญกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับขยะพลาสติกอย่างไร ซึ่งคำตอบก็คือ เราได้ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่มีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน”

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกแบบบูรณาการในการบริหารจัดการพลาสติก ตั้งแต่การผลิต การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกที่ผ่านมา นับได้ว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก”

“อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ไม่ได้หยุดการดำเนินงานอยู่เพียงแค่นี้ แต่จะยังมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” นายปิ่นสักก์ กล่าวเสริม

ผู้เข้าร่วมในพิธีเปิดได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการผ่านงานศิลปะและภาพถ่ายของศิลปินไทยทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณณรงค์ยศ ทองอยู่ คุณนาตาลี ลิ้มวัฒนา คุณสาธิต รักษาศรี และ คุณศิรชัย (ชิน) อรุณรักษ์ดิชัย โดยงานศิลปะเหล่านี้ ได้มีการนำเอาวัสดุจากขยะพลาสติกในทะเลมาประดิษฐ์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาขยะทะเล ขณะที่ภาพถ่ายใต้น้ำมุ่งเน้นการนำเสนอถึงผลกระทบจากเครื่องมือประมงและขยะพลาสติกในระบบนิเวศทางทะเลที่เปราะบาง

“เศษพลาสติกที่เกลื่อนอยู่บนหาดทรายทำให้ผมจินตนาการไปถึงเศษวัสดุอื่นๆ ที่จมและลอยอยู่ในท้องทะเล จนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชุดเต่าติดอวน จากเศษซากอวนที่ถูกกู้ขึ้นมาจากใต้ท้องทะเล” ศิลปินร่วมสมัย คุณณรงค์ยศ ทองอยู่ กล่าว

“ผลงานชุดนี้ เกิดจากการทำงานร่วมกันของศิลปินและนักสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เราต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ช่วยสร้างความตระหนักและการเปลี่ยนแปลงได้” คุณณรงค์ยศ กล่าวเสริม

งานนิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 11 – 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 นี้ ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) โดยจะเปิดบริการให้เข้าชมนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) ระหว่างเวลา 10.00 น. – 19.00 น. โดยไม่มีค่าเข้าชมใดๆ ทั้งสิ้น

เกี่ยวกับโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล

งานนิทรรศการสนับสนุนโดยโครงการส่งเสริมการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการปัญหาขยะทะเล ของสหภาพยุโรป (EU) และกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และ Expertise France (EF) โครงการฯ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติกใน 7 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเล สำหรับในประเทศไทย โครงการฯ ร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https:/rethinkingplastics.eu

เกี่ยวกับมูลนิธิ EJF

มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับนานาชาติที่ทำงานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและปกป้องสิทธิมนุษยชน EJF เป็นองค์กรการกุศลที่จดทะเบียนในประเทศอังกฤษและเวลส์ (1088128) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ejfoundation.org

เกี่ยวกับมูลนิธิ LWF

มูลนิธิรักสัตว์ป่าเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของไทยที่อุทิศตนเพื่อการคุ้มครองสัตว์ป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการวิจัย ศึกษาและเผยแพร่ข้อมูล เราทำงานอย่างหนักเพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนรุ่นใหม่เกี่ยวกับความสำคัญของสัตว์ป่าและความเชื่อมโยงที่สัตว์ป่ามีต่อโลกที่เราทุกคนอาศัยอยู่ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.lovewildlife.org

ทำความรู้จักศิลปิน

คุณณรงค์ยศ ทองอยู่ เป็นศิลปินไทยร่วมสมัย จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และปริญญาโทเอกทัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คุณณรงค์ยศใช้ขยะทะเลและแหอวนที่เก็บกู้จากทะเลโดยโครงการ Net Free Seas ในการสร้างผลงานศิลปะของเขาเพื่อรำลึกถึงชีวิตของเต่าทะเลถูกแหอวนคร่าชีวิต เมื่อปีพ.ศ. 2563 คุณณรงค์ยศได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปิน Bangkok Art Biennale ปัจจุบันอาศัยและทำงานในจังหวัดเชียงใหม ประเทศไทย

คุณนาตาลี ลิ้มวัฒนา เป็นนักศิลปินที่ทำงานร่วมกับชุมชนและใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเตรียมพร้อมให้มนุษย์สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างสมดุล ผลงานชุดนี้ของคุณนาตาลีได้รับแรงบันดาลใจจากมาเรียม พะยูนน้อยที่เสียชีวิตเพราะมีเศษถุงพลาสติกในท้อง คุณนาตาลีเลือกที่จะเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งให้เป็นพะยูนเพื่อถึงแสดงผลกระทบของเครื่องมือประมงต่อชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก

คุณสาธิต รักษาศรี เป็นศิลปินอิสระ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาทัศนศิลป์ คุณสาธิตทำงานกับสื่อหลายประเภท โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แม้ว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจที่เกิดจากเครื่องมือประมงที่ถูกทิ้งอาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับคนจำนวนมาก แต่งานของคุณสาธิตแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมของมนุษย์กับขยะในทะเล และวิธีที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถมีส่วนร่วมในการต่อสู้กับขยะในทะเล

คุณศิรชัย (ชิน) อรุณรักษ์ดิชัย เป็นช่างภาพอิสระและนักชีววิทยาทางทะเล เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ทางทะเล เขาเป็นหนึ่งในช่างภาพของ International League of Conservation Photographers และ National Geographic Explorer ที่ถ่ายภาพให้กับองค์กรอนุรักษ์ต่างๆ รวมไปถึงถ่ายภาพเชิงข่าวให้กับ Getty Images ภาพถ่ายของเขาได้รับการตีพิมพ์ใน National Geographic, Smithsonian, Washington Post, the New York Times, Guardian และอีกมากมาย ภาพถ่ายสัตว์ทะเลที่คุณศิรชัยเผยให้เห็นเป็นโลกใต้น้ำที่หลายคนไม่อาจมองเห็น รวมไปถึงเป็นภาพที่น่าจดจำและน่าตกใจของสัตว์ทะเลและพลาสติก

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

ศลิษา ไตรพิพิธสิริวัฒน์                                                          ปริยา วงศาโรจน์

ผู้ประสานงานโครงการ                                                          เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร

มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF)                                 องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

เบอร์โทร. 064-991-5522                                                        เบอร์โทร. 092-241-4241

อีเมล: salisa.t@ejfoundation.org                                             อีเมล: pariya.wongsarot@giz.de


By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น