นายอรุณ บุญชม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี​ เป็นประธานในพิธีมอบทุนการศึกษา​ โครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปีการศึกษา 2566 ​ โดย วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพยาลัยเกริก โดยมี​รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก​  นายอำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร มหาวิทยาลัยเกริก​ ผู้บริหาร​ นักศึกษา​ และผู้เกี่ยวข้อง​ ร่วม​งานดังกล่าว ณ สำนักจุฬาราชมนตรี เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร​

นายอรุณ บุญชม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี​ กล่าวว่า​ สำนักจุฬาราชมนตรีเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาของเยาวชนมุสลิมไทยในระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยยังต้องมุ่งไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาคนที่ใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และความงดงามของศาสนาเป็นตัวกำหนดแนวทางการพัฒนาคนไปพร้อมกัน สำนักจุฬาราชมนตรี มีความตั้งใจในการสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ 

ความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มวิชาที่กำลังขาดแคลนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งรวมถึงการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ด้วย ซึ่งต้องขอชื่นชมว่าวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก​ เป็นสาขาแห่งแรกที่เปิดให้มีการเรียนการสอนในประเทศไทย โดยอันที่จริงแล้วสาขาวิชาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีฮาลาล การบริหารจัดการแบบฮาลาล และยังตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่สามารถนำองค์ความรู้ไปประกอบกิจการของตนเองได้จริงด้วย

ด้าน​ รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์​  ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก​ กล่าวเสริมว่า​ ในปีการศึกษา​ครั้งนี้นับเป็นปีที่ 3 ของการมอบทุนใน โครงการทุนจุฬาราชมนตรี จากทางมหาวิทยาลัยเกริก โดยจุดมุ่งหมายของการมอบทุนดังกล่าว มหาวิทยาลัยเกริกเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา การส่งเสริมการศึกษา การส่งเสริมกลุ่มเยาวชนมุวัลลัด (นักเรียนไทยที่เติบโตในประเทศซาอุดีอาระเบีย) ส่งเสริมเยาวชนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้ยากไร้ กลุ่มเด็กกำพร้า และมีฐานะยากจน รวมทั้งกลุ่มนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านต่างๆ ซึ่งจะเป็นผลดีกับการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับคนทุกกลุ่มและเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา 

“ในนามของมหาวิทยาลัยเกริกต้องขอขอบพระคุณ ฯพณฯ จุฬาราชมนตรี และสำนักจุฬาราชมนตรีที่ได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยมาโดยตลอด อีกทั้งยังมีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาและเป็นเจ้าภาพในการคัดนักเรียน  นักศึกษาที่มีศักยภาพเข้ามาเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเกริกอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์ กล่าว

ขณะที่​ นายอำพล ขำวิลัย ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกริก​ กล่าวเพิ่มเติมว่า​ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ เป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเกริก มาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามรถ อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านในเรื่องการบริหารธุรกิจอิสลามที่กำลังเป็นที่จับตาและมีความสำคัญอันดับต้นๆในยุคการเปลี่ยนผ่านของโลก ซึ่งการมอบทุนการศึกษาในครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เป้าหมายการสนับสนุนด้านการศึกษา แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มนักเรียนจากทั่วประเทศได้มีโอกาสใช้การศึกษาเป็นเส้นทางของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพลเมืองไทย ที่สำคัญวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพเปิดกว้างสำหรับทุกชาติศาสนา และเป็นวิทยาลัยที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดด้านบริหารธุรกิจอิสลามเชื่อมโยงระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและโลกมุสลิมที่มีประชากรกว่า 1.9 พันล้านคน ด้วยเหตุนี้ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพจึงมีความเข้มแข็งในการสร้างความเข้าใจวิธีการดำเนินธุรกิจการค้า การลงทุน เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและวิถีของชาวอาหรับ จนเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ

  และ นายสราวุธ และซัน รองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก  กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในปีการศึกษา 2566 นี้ มหาวิทยาลัยเกริกได้อนุมัติจัดสรรทุนจุฬาราชมนตรี รวมทั้งสิ้นจำนวน 350 ทุน โดยมีการแบ่งเป็นการให้ทุนตลอดระยะเวลาการศึกษาแบบเต็มจำนวน 100% จำนวน 5 ทุน และทุนส่วนลด 20% อีกจำนวน 345 ทุน สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม สาขาวิชาการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ สาขาวิขาอุตสาหกรรมฮาลาล และสาขาวิขาการเงินอิสลาม

 นอกจากนี้ ดร.พัดชา รักตะกนิษฐ ที่ปรึกษาวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ยังร่วมสนับสนุนทุนตลอดระยะเวลาการศึกษาแบบเต็มจำนวน 100% อีก 1 ทุน มูลค่า 300,000 บาท รวมทุนตลอดระยะเวลาการศึกษาแบบเต็มจำนวน 100% จำนวน 6 ทุน ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริกได้ส่งมอบทุนดังกล่าวไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี สำหรับมอบให้นักเรียนนักศึกษาที่ผ่านการคัดสรรจากทั่วประเทศเพื่อเป็นทุนการศึกษาสำหรับการเรียนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องต่อไป  สำหรับนักศึกษาและผู้สนใจร่วมรับทุน โครงการทุนจุฬาราชมนตรี ประจำปี 2566 สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2565 ถึง วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 ทาง เพจFacebookสำนักจุฬาราชมนตรี  “นายสราวุธ กล่าวทิ้งท้าย

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น