นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน Agriproducts X Character Market “ตลาดนัดสินค้าเกษตร X คาแรคเตอร์” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ ตลาดน้ำ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) โดยมี นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายปิยวุฒิ วิหงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจเกษตร องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร นายโฆสิต สุวินิจจิต ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม 

โดยนายอลงหรณ์ กล่าวว่าการจัดงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสินค้าเกษตรให้มีอัตลักษณ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางด้านการตลาดให้กับเกษตรกรและสินค้าเกษตร ช่วยในการทำประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และเป็นการส่งเสริมและสร้างช่องทางในการนำคาแรคเตอร์ (character) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม พัฒนาเกษตรกร/ผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนเพื่อให้เกิดการใช้งานคาแรคเตอร์ (character) กับสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนทั่วประเทศ โดยภายในงานจะมีการคัดเลือกคาแรคเตอร์มาจัดแสดง และนำสินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่ปรับใช้คาแรคเตอร์เพื่อเพิ่มมูลค่า และสินค้าชุมชนกว่า 28 พื้นที่ทั่วประเทศ มาจัดแสดงและจำหน่าย

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งพัฒนาการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก รวมทั้งยกระดับสู่เกษตรมูลค่าสูงตามหมุดหมายใหม่ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 โดยใช้แนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบคาแรคเตอร์มาเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์และสถาบันเกษตรกร รวมทั้งการส่งเสริมสตาร์ทอัพเกษตรรุ่นใหม่ ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมลิขสิทธิ์นานาชาติ หรือ LIMA ระบุว่า สำหรับปี 2564 ภาพรวมของสินค้าและบริการที่นำเอาลิขสิทธิ์ของผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในโลก มีมูลค่าสูงถึง 315.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นมาจากปี 2562 ร้อยละ 7.75 แม้จะเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสทั่วโลกก็ตาม 

นอกจากนี้มูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ผลงานสร้างสรรค์ในช่วงเวลาเดียวกัน ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 โดยมีมูลค่าราว 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาแรคเตอร์เป็นประเภทผลงานสร้างสรรค์ที่มูลค่าสูงสุดถึง 129.9 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของผลงานสร้างสรรค์ทุกประเภท เนื่องจากคาแรคเตอร์มีจุดเด่นที่สามารถนำเอาไปใช้ได้ง่าย และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายวิธี ส่วนในประเทศไทยมีมูลค่าการใช้คาแรคเตอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกราวร้อยละ 20 (ร้อยละ 62 ของมูลค่ารวมโดยประมาณ) ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปี โดยใช้ในการส่งเสริมการขายและการตลาดของภาคธุรกิจในสินค้าหลากหลายประเภทที่จำหน่ายอยู่ในร้านสะดวกซื้อ ตามกิจกรรมการตลาดที่ประชาสัมพันธ์ออกมาตามสื่อต่าง ๆ หรือนำไปผลิตเป็นสินค้า ตลอดจนใช้ในการประชาสัมพันธ์การบริการต่าง ๆ ซึ่งเกือบทั้งหมดก็จะเป็นคาแรคเตอร์ชั้นนำ ที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศที่เรารู้จักกันดี แต่แทบจะไม่มีคาแรคเตอร์ไทยได้แชร์ส่วนแบ่งเลย

 อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯได้กำหนดแนวทางการดำเนินการส่งเสริมการใช้คาแรคเตอร์กับธุรกิจเกษตร โดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายโฆสิจ สุวินิจจิต เป็นประธาน ได้ต่อยอดผลสำเร็จของโครงการ Change 2021 และ 2022 Visual Character Arts for SME ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกับสมาคมการค้าลิขสิทธิ์และของที่ระลึก จากคาแรคเตอร์ดีไซน์ของเล่น และผลงานศิลป์ร่วมสมัยไทย หรือสมาคม TCAP (ทีแคป) ซึ่งยึดแนวความคิดแบบเศรษฐกิจเผื่อแผ่ โดยให้โอกาสเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SME ในพื้นที่ของคาแรคเตอร์นั้น ๆ สามารถยื่นขออนุญาตนำลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ไปใช้ส่งเสริมการขายสินค้าและบริการของตนได้ โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ซึ่งแนวทางนี้หากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมผลักดัน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความแข็งแรงของคาแรคเตอร์ในภาพรวมเปรียบเสมือนหนึ่งในแบรนดิ้งจังหวัดแล้ว ยังจะทำให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนที่นำไปใช้ กระจายไปทั่วประเทศ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถาม เพื่อซื้อหรือขอใช้ลิขสิทธิ์คาแรคเตอร์ไปใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขยายผลความร่วมมือนี้ให้กระจายไปสู่พี่น้องเกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อไป

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *