นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม การพัฒนาโคขุน โคนม โคพื้นเมือง และวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยครั้งที่ 1/2565 ว่าการจัดระดมพลคนปศุสัตว์กลุ่มโค โดยผนึกความร่วมมือทุกภาคส่วนมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาการปศุสัตว์อย่างเป็นระบบครบวงจร และยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน เป็นการพัฒนาอาชีพปศุสัตว์สู่เกษตรมูลค่าสูง ที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการพัฒนาจะเพิ่มศักยภาพเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรมากขึ้นและเพิ่มช่องทางใหม่ ๆ ให้กับเพชรบุรี ซึ่งเลี้ยงและจำหน่ายโคกว่า 140,000 – 150,000 ตัวต่อปี โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนเป็นกลไกการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นระบบต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงโคขุน โคนม และโคพื้นเมืองมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ รวมทั้งวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยถือเป็นฐานอาชีพสร้างรายได้สำคัญของเกษตรกร จึงมีความพร้อมที่จะเดินหน้าต่อยอดยกระดับการพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่ พันธ์ุโค อาหารสัตว์ มาตรฐานฟาร์มการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มาตรฐานฟาร์มปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) คอกกักมาตรฐานเอกชนสำหรับการนำเข้า การส่งออก และปลอดโรค FMD การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ การตลาดแบบออฟไลน์และออนไลน์ และการเจรจาการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น กรณีของวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงโคและพรีเมี่ยมบี๊ฟ (Premium Beef)สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์จำหน่ายได้มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ เช่น สันนอก สเต็กแช่แข็ง ลิ้นแองกัสสไลด์แช่แข็ง เนื้อหมักกระเทียมพริกไทยเสียบไม้ เนื้อแดดเดียวท่าแร้ง เนื้อตุ๋นสมุนไพร ลูกชิ้นเนื้อ เป็นต้น ตลอดจนการส่งออกโคไปต่างประเทศสู่ตลาดมาเลเซีย เวียดนาม และจีนซึ่งจะได้เจรจากับประเทศลูกค้ารวมทั้งการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับซาอุดีอาระเบียและดูไบในโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีมติเห็นชอบสนับสนุนเมื่อเร็วๆนี้

สำหรับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โคขุน มุ่งการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม โดยพัฒนากลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคขุน เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม(GAP) ฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรค(GFM) และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ เป็นฟาร์มตัวอย่างให้เกษตรกรและประชาชนที่สนใจ ส่งเสริมรูปแบบการเลี้ยงที่ทันสมัย ประหยัด ลดต้นทุนการผลิต และการขยายตลาด สนับสนุนและยกระดับฟาร์มให้มีรูปแบบการผลิตเนื้อโคขุนที่มีคุณภาพ เพื่อส่งตลาดทั่วไปและตลาดพรีเมี่ยม  เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งเสริมให้มีตลาดกลางปศุสัตว์โค เพื่อเพิ่มช่องทางการซื้อขายให้เกษตรกร ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ส่งเสริมการแปรรูปเนื้อโค สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์เนื้อของเพชรบุรี รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเลี้ยงโคไทยวากิวโดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ศูนย์ AIC จังหวัดนครราชสี มาสนับสนุน 

ทั้งนี้ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 5,571 ราย โค 80,717 ตัวส่วนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม มีการพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์ม พัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม GAP ฟาร์มปลอดโรค ส่งเสริมเกษตรกรโคนมรุ่นใหม่ เพื่อปรับปรุงรูปแบบ เทคนิคการเลี้ยงที่ทันสมัย เช่น การปรับปรุงพันธุ์ การขุนโคนมเพศผู้ ในด้านการส่งเสริมการตลาด มีการส่งเสริมการแปรรูป เพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์เช่น เนย โยเกิร์ต ชีสและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมของเกษตรกรและผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยว เชิงเกษตร ส่งเสริมให้มีการเพิ่มแนวทางการเลี้ยงโคนมนอกจากผลิตน้ำนมโคแล้ว จะมีการผลิตโคขุนจากโคนมด้วย ทั้งนี้จะให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศูนย์ความเป็นเลิศโคนมและเป็นศูนย์ AIC จังหวัดสระบุรี มาสนับสนุนด้วย ปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 370 ราย โค 13,840 ตัว

ทางด้านแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคพื้นเมือง มุ่งการจัดตั้งกลุ่มเครือข่าย ทั้งกลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นเมือง และกลุ่มโคลานเพชรบุรี ปศุสัตว์แปลงใหญ่ การพัฒนาการเลี้ยง และการอนุรักษ์พันธุ์โคพื้นเมือง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์( GI ) ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ของเพชรบุรี การส่งเสริมประเพณีการประกวดและการแข่งขันวัวลาน โดยจะสนับสนุนให้จดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาและการพัฒนาสนามกีฬาแข่งวัวลานที่เป็นมาตรฐาน 1 อำเภอ 1 สนามแข่งโดยศึกษาแนวทางของสนามแข่งม้าที่มีระเบียบและกฎหมายรองรับและจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าชมวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยในรูปแบบเกษตรท่องเที่ยวเข่นเดียวกับสนามกีฬาวัวกระทิงของประเทศสเปนและสนามม้าแข่งในไทยและในประเทศอังกฤษ รวมทั้งการส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การประกวดพันธ์ุวัวและวัวสวยงาม โดยมีศูนย์AICจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดปัจจุบันมีจำนวนเกษตรกร 10,472 ราย โค 169,865 ตัว

จะมีการประชุมครั้งที่2ในเดือนหน้าเพื่อเร่งเดินหน้าโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดโดยนำร่องจังหวัดแรกก่อนขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆโดยเร็วต่อไปโดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตก และวันที่24 ..นี้สภาอุตสาหกรรมภาคกลาง17จังหวัดได้เชิญตนไปประชุมหารือความร่วมมือในโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์และจะนำเสนอโครงการพัฒนาปศุสัตว์แบบครบวงจรต่อที่ประชุมด้วยเพื่อพิ่มโอกาสของการลงทุนและการค้าให้กับจังหวัดเพชรบุรีและเกษตรกรผู้เลี้ยงโคโดยนำร่องจังหวัดแรกก่อนขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆโดยเร็วต่อไปโดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันตกนายอลงกรณ์กล่าว

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น