นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ครั้งที่ 3/2565 โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและหน่วยงานในสังกัด เข้าร่วม ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Cloud Meeting และห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ นายประภัตร เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รายงานผลสำเร็จของการเข้ารับการตรวจประเมินของกองรับรองมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (กรร. มกอช.) จาก Mr. Israel Juarbe และ Mrs. Kathleen Close คณะผู้ตรวจประเมินจาก U.S. Food and Drug Administration (U.S.FDA) ระหว่างวันที่ 18-27 กรกฎาคม 2565 โดยการตรวจประเมินในครั้งนี้ เป็นการตรวจติดตาม (Monitoring Recognition) กรร. มกอช. ในฐานะหน่วยรับรองระบบงานที่ได้รับการยอมรับ (recognized AB) ตาม Third-Party Certification Program (TPP) ภายใต้กฎหมาย Food Safety Modernization Act (FSMA) โดยการตรวจประเมิน แบ่งเป็น : การตรวจประเมิน ณ สำนักงาน เพื่อพิจารณาความสอดคล้องของระบบคุณภาพของ กรร. ระหว่างวันที่ 18, 22, 27 กรกฎาคม 2565 และการตรวจประเมิน ณ สถานประกอบการ (บริษัท บูโร เวอริทัส (ประเทศไทย) จำกัด) เพื่อประเมินความสามารถของผู้ตรวจประเมิน กรร. ในการตรวจประเมินหน่วยรับรอง ขอบข่ายภายใต้ TPP ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2565

นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร 4 เรื่อง เพื่อประกาศเป็นมาตรฐานทั่วไปของประเทศ ได้แก่

1) ร่างมาตรฐานยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมียม เพื่อส่งเสริมการผลิตยางแผ่นรมควันที่มีคุณภาพ เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราเป็นอันดับหนึ่งของโลก ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกยางพารา 3.96 ล้านตัน รวมทั้งยางแผ่นรมควันเกรดพรีเมียมเป็นสินค้าคุณภาพที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก ซึ่งการปรับปรุงคุณภาพดังกล่าวเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้ายางแผ่นรมควัน

2) ร่างมาตรฐานยางเครปบางสีน้ำตาลเกรดพรีเมียม เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพยางเครปสีน้ำตาลสู่เกรดพรีเมียมให้เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีคุณภาพ

3) ร่างมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์และอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค และแนวปฏิบัติ โดยครอบคลุมข้อกำหนดสำหรับฟาร์มเพาะพันธุ์และการอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ทั้งการเพาะพันธุ์และการอนุบาลสัตว์น้ำในบ่อและแหล่งน้ำสาธารณะ ตั้งแต่ขั้นตอน การเพาะพันธุ์ การอนุบาล การรวบรวม จนถึงหลังการรวบรวมก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม เพื่อให้ได้ลูกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง เหมาะสมสำหรับนำไปเลี้ยงต่อเป็นอาหารที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ แต่ไม่รวมกับสัตว์น้ำที่มีข้อกำหนดและมีมาตรฐานสินค้าเกษตรเฉพาะเรื่องแล้ว ได้แก่ จระเข้ สาหร่ายทะเล และกุ้งเครย์ฟิช

และ 4) ร่างมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่น โดยมาตรฐานสินค้าเกษตรนี้ ครอบคลุมการผลิตไข่ไก่ตลอดห่วงโซ่การผลิต และยกระดับการผลิตไกไข่ที่มีสุขภาพดีตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงได้ไข่ไก่ที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่รุ่นเป็นการเฉพาะ ได้ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของไก่ระยะให้ไข่ เพื่อให้ได้ไก่ไข่รุ่นที่มีสุขภาพสมบูรณ์และแข็งแรง

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น