วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรค ชทพ. ให้สัมภาษณ์ถึงโค้งสุดท้ายในการเลือกตั้ง ว่า ในส่วนของผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่เราคาดหวังยังเดินหน้าเต็มที่ อย่าง จ.สุพรรณบุรี หากพื้นที่ไหนน่าเป็นห่วงเราจะไปย้ำ ไปพบปะประชาชน โดยวันที่ 12 พ.ค. จะหาเสียงที่ จ.สุพรรณบุรี จะไปเดินตลาดสดใน อ.เมือง เพื่อหาเสียงขอคะแนน  เชิญชวนมาลงคะแนนในวันที่ 14 พ.ค. ส่วนในพื้นที่ กทม. ภาคอีสาน ภาคเหนือ ผู้สมัคร ส.ส.ของเรายังเดินหน้าเต็มที่ เคาะประตูทุกบ้าน เพราะการลงคะแนนในวันที่ 14 พ.ค.นี้ สำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และสับสน ต้องไปทำความเข้าใจว่าบัตรสีเขียวคือเลือกพรรค บัตรสีม่วงคือเลือก ส.ส.แบบแบ่งเขต ผู้สมัคร ส.ส.ต้องมีหน้าที่ทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะการหาคะแนนทำกันมาเยอะแล้ว จึงต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงคะแนนให้ถูกต้อง ซึ่งสำคัญ เพราะหากจำสลับขึ้นมาจะเสียทั้งคนทั้งพรรค  

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงที่ผ่านมา นายวราวุธ กล่าวว่า การจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนกว่า 50 ล้านคน การทำงานในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่ จะมีความยากง่ายแตกต่างกัน เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย บางพื้นที่เจ้าหน้าที่อาจต้องใช้ความระมัดระวังกว่านี้ ความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากเกิดขึ้นแล้วต้องแก้ไขให้เร็วที่สุดเพื่อลดความกังขา ทำความเข้าใจกับประชาชนต่อข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนสบายใจ ขอเป็นกำลังใจให้กับ กกต. 

เมื่อถามว่า ครั้งที่แล้วมีเรื่องบัตรเขย่ง ครั้งนี้มีการมองว่า กกต.พิมพ์บัตรเกิน กกต.ต้องระวังอะไรหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า การกระทำของ กกต.ต้องชี้แจงต่อประชาชนให้ชัดเจนในทุกประเด็น เพราะการทำงานกับประชาชนกว่า 50 ล้านคนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ใช่ข้อแก้ตัว เราเข้าใจถึงความยาก แต่ กกต.ทุกคนต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่าความผิดพลาดเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใด ถ้าชี้แจงชัดเจนเชื่อว่าประชาชนจะให้อภัย เมื่อผิดพลาดแล้วต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด แต่ดีที่สุดอย่าให้ผิดพลาดดีกว่า

เมื่อถามว่า กังวลเรื่องการซื้อเสียงหรือไม่ เพราะขณะนี้เริ่มมีข่าวการซื้อเสียงในบางจังหวัดภาคอีสาน นายวราวุธ กล่าวว่า มีทุกครั้ง จะมีประมาณเขาเล่าว่า คนนั้นบอกว่า คนนี้บอกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ามันยากเหลือเกินที่จับได้คาหนังคาเขา แต่ต้องจับ และเมื่อจับได้แล้วเป็นหน้าที่ของตำรวจ และกกต. ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งรัด แล้วต้องดูให้ดีว่าเป็นความผิดหรือกลั่นแกล้งกัน การเลือกตั้งเป็นเกมการเมืองที่ใหญ่ที่สุด ทุกฝ่ายจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด ฝ่ายรัฐต้องทำให้เต็มที่ ภาคเอกชนและองค์กรอิสระต้องจับตาใกล้ชิดเช่นกัน

เมื่อถามว่า ขณะนี้กระแสพรรคก้าวไกลมีมากพอสมควร ชทพ.จะต้องปรับกลยุทธ์ในพื้นที่คาดหวังหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เน้นการทำงานที่ผ่านมาของพรรค ประสบการณ์ ความตั้งใจของเรา อย่างที่ จ.สุพรรณบุรี เข้าใจว่าอยู่มานาน มีความต้องการที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เราจึงตอกย้ำให้เห็นถึงความเข้ใจ ความตั้งใจ และประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถครองใจชาวสุพรรณและอีกหลายจังหวัดได้อีกครั้ง ส่วนในพื้นที่ใหม่ที่เราเป็นผู้ท้าชิง ยอมรับว่าการทำงานไม่ง่าย และแม้รอบนี้อาจจะยังไม่ได้ แต่ถ้าทิ้งไปเลย มันจะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจของผู้สมัคร ส.ส.ของเรา ดังนั้น ชทพ.จะทำงานต่อไม่ว่าอยู่ในสถานะไหน

เมื่อถามว่า ขณะนี้หลายพรรคประกาศไม่เอาลุง จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยากขึ้นหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลครั้งไหนง่าย และสมการที่จะเกิดหลังเลือกตั้งถ้าถามตอนนี้ตอบลำบาก ดังนั้น ตอนนี้อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ ไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และวันนี้ยังไม่มีพรรคไหนที่มั่นใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะได้เท่าไหร่ และได้แล้วจะมีการฟ้องร้อง กกต.เท่าไหร่อย่างไร 

เมื่อถามว่า ชทพ.ได้ทำโพลหรือไม่ และผลโพลที่ออกมายังเป็นไปตามเป้าหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า พรรคทำในทุกพื้นที่ ซึ่งออกแบบหนึ่ง แต่ถ้าฟังจากหน่วยงานอื่นจะออกมาอีกแบบหนึ่ง 10 โพลออกมาไม่เหมือนกันสักโพล และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแม้แต่เอ็กซิทโพลยังเคยคว่ำถล่มทลายมาแล้ว อย่างไรก็ดี โพลที่ออกมาทำให้ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคไม่ประมาท และได้ย้ำในพื้นที่ว่าให้ไปขอคะแนน อย่าเอาผลโพลมาทำให้เราท้อแท้ โพลแม่นที่สุดคือ 14 พ.ค. อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนยังมั่นใจอยู่ว่าจะทำได้ตามเป้า คือ ไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่ง 

  เมื่อถามว่า มองว่ามีโอกาสจะเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย การทำงานในสภา เวลาลงคะแนนเสียง 250 เสียงของ ส.ว.ไม่สามารถเข้ามาร่วมได้ และการทำงานถ้าพึ่งแต่เสียง ส.ว. การทำงานจะไปไม่รอด เช่น การพิจารณากฎหมายร่าง พ.ร.บ.ประมาณวาระ 1 ซึ่งหากกฎหมายฉบับนี้ไม่รอด แปลว่ารัฐบาลต้องยุบสภา คงไม่มีพรรคการเมืองไหนอยากให้มีการเลือกตั้งสองครั้งในปีเดียวกัน มันเป็นอะไรที่เหนื่อย สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ ชะลอการพัฒนาของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลเสียงข้างน้อยไม่เป็นประโยชน์ในการทำงานให้กับประเทศไทย 

เมื่อถามว่า หากมีการแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่คำนึงถึงจำนวน ส.ส.เสียงข้างมาก ชทพ.จะมีหลักการพิจารณาอย่างไร นายวราวุธ กล่าวว่า  คงต้องดูก่อน เพราะ ชทพ.พูดอยู่เสมอว่าเราไม่ได้จ้องแต่เป็นรัฐบาลอย่างเดียว แนวทางการทำงานและจุดยืนของ ชทพ.  คือ หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.ต้องมาดูว่าแต่ละพรรคได้จำนวนเท่าไหร่ มีสมการเป็นอย่างไร ซ้ายหรือขวาได้คะแนนเท่าไหร่ แล้วจะจับมือทำงานกันอย่างไร ซึ่งหลังจากวันที่ 14 พ.ค.จะเห็นความชัดเจนมากขึ้น

เมื่อถามย้ำว่า ถ้าเกิดการแย่งชิงในการจับขั้วรัฐบาล โดยไม่รอพรรคอันดับ 1 จัดตั้งก่อน ชทพ.จะใช้อะไรที่จะเป็นจุดตัดสินใจที่จะไปซ้ายหรือขวา นายวราวุธ กล่าวว่า พูดเสมอว่า ภายใน 100 วันอยากเห็นการขับเคลื่อนเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่สะท้อนเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังมีที่พูดกันคือ เรื่องการเกณฑ์ทหาร ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เหล่านี้เราต้องไปถกกันใน สสร.ให้เรียบร้อย ถึงแม้ว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ แต่กระทบกับบางมาตราในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญจาก สสร.ที่สะท้อนจากประชาชน คือแนวทางที่ ชทพ.เร่งทำงาน และนำนโยบายของพรรคที่มีแนวทางเน้นความยั่งยืน เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ จะเป็นแนวทางที่สำคัญ ถ้าประเด็นเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง แปลว่า ชทพ.ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ร่วมในรัฐบาล

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น