มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดย นายจิรายุ อิศรางกูร อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และ นางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ และกลุ่มทรู โดย ดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการศึกษา บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดการประกวดรอบชิงชนะเลิศ โครงภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏประจำปี ๒๕๖๕’ ซึ่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการคัดเลือก ๑๒ ชมรมสุดท้าย เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ชิงถ้วยเกียรติยศจากมูลนิธิฯ และทุนการศึกษามูลค่ากว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่า “มูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพันธกิจหลักในการรณรงค์และสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จย่า ให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้อย่างเหมาะสม และให้รักษาคนจน คนรวยโดยเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่มูลนิธิฯ ยึดถือเป็นพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนและดำเนินงานมาจนปัจจุบัน ทั้งด้านการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนผ่านเครือข่าย และสื่อต่างๆ รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมให้กับผู้หญิงไทย ผ่านศูนย์ถันยรักษ์ ณ โรงพยาบาลศิริราช

ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงไทยและผู้หญิงทั่วโลก โดยที่แนวโน้มอุบัติการณ์การเกิดก็ยังจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังพบว่า ในผู้หญิงเอเชียจะพบมะเร็งเต้านมในอายุที่น้อยกว่าผู้หญิงตะวันตก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเต้านมเป็นอวัยวะที่อยู่ภายนอก ผู้หญิงสามารถที่จะดูแล และคัดกรองหาสิ่งผิดปกติในเต้านมได้ด้วยตนเองในเบื้องต้น และหากมีการพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก จะสามารถรักษาให้หายขาดได้”

นางบุษดี เจียรวนนท์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่า “จากสถานการณ์ดังกล่าว มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์สื่อสารในวงกว้างให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงไทย ได้รับทราบถึงภัยและการดูแลป้องกันการเสียชีวิตจากมะเร้งเต้านมในเบื้องต้น ในปี ๒๕๖๕ ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฎ ๓๘ แห่งทั่วประเทศ เริ่มดำเนิน โครงการ เผยแพร่ความรู้การดูแลเต้านมและการตรวจเต้านมตนเองเบื้องต้น โดยมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ให้กับคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ให้ข้อมูลความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยมะเร็งเร็งเต้านม ตลอดจนการดูแลสังเกต และตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอ ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้ตัวแทนคณาจารย์ และนักศึกษาที่เข้าร่วมนำไปขยายผลภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งประชาชนในทุกพื้นที่

จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว มูลนิธิฯ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้ร่วมกันต่อยอดสู่ การประกวด ‘โครงการภารกิจพิชิตมะเร็งเต้านม ตั้งชมรมถันยรักษ์ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ ประจำปี ๒๕๖๕’ โดยผนึกกำลังและนำศักยภาพของนักศึกษา จัดตั้งชมรมถันยรักษ์ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนการรณรงค์สื่อสารในเขตพื้นที่บริการ สร้างความตระหนักถึงภัยมะเร็งเต้านมอย่างเป็นรูปธรรม โดยมูลนิธิฯ ได้สนับสนุนทุนในการจัดตั้งชมรมฯ พร้อมด้วยอุปกรณ์และสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้พื้นฐานสำคัญในการเผยแพร่องค์ความรู้ได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมทั้งการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) และ ระบบบันทึกการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเอง (BSE Application) อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้มีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมส่งโครงการจัดตั้งชมรมถันยรักษ์เข้าประกวด จำนวน ๒๖ แห่ง และได้เผยแพร่ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ทั้งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนได้มากกว่า ๒๐,๐๐๐ คน มูลนิธิฯ เชื่อมั่นว่า “ชมรมถันยรักษ์ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ” ที่มีอยู่ทั่วประเทศ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยให้รอดพ้นจากภัยมะเร็งเต้านม ดังพระราชปณิธานสมเด็จย่าฯ สืบไป”

ชมรมถันยรักษ์ที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ มีจำนวน ๑๒ ชมรม ได้แก่ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ ชมรมถันยรักษ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละชมรม ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาตัดสินครอบคลุมถึงประสิทธิภาพของการรณรงค์สื่อสารเกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ความรู้หลักวิชาการที่ถูกต้อง ความคิดสร้างสรรค์ และความยั่งยืนของแผนงาน ตลอดจนจำนวนผลลัพธ์การใช้เครื่องมือซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการวัดผลสำเร็จในการดำเนินโครงการ ประกอบด้วยเนื้อหาความรู้และการทดสอบผ่านระบบออนไลน์ (E-Learning) รวมถึง ระบบบันทึกการตรวจคัดกรองเต้านมด้วยตนเอง (BSE Application) อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ การประกาศผลผู้ชนะและมอบรางวัลจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค

มหาวิทยาลัยราชภัฏ มีพันธกิจสำคัญได้แก่ การสอน การบริการวิชาการ การวิจัย และการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และมียุทธศาสตร์ร่วมกัน ๔ ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพการศึกษา และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบบริหารจัดการ  โดยมีพื้นที่ให้บริการการศึกษา ๗๗ จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงยังมีบุคลากรมากกว่า ๑๔,๐๐๐ คน และมีนักศึกษามากกว่า ๓๓๐,๐๐๐ คน

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น