วันที่ 16 ธันวาคม 2565 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานแถลงข่าว ผลการศึกษานวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลและการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ภายใต้โครงการศึกษานวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Recycled Plastics in Roads Study) เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการใช้เศษพลาสติกไปเป็นวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมะตอยเพิ่มความแข็งแรงให้กับถนน อีกทั้งช่วยลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตยางมะตอย ตลอดจนเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะ โดยเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรตอบโจทย์ความยั่งยืน พร้อมจัดเสวนาผลการศึกษาของโครงการฯ ระยะที่ 1 รวมถึงข้อมูลองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้

ดร. ชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก (นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า “กระทรวงคมนาคมมีนโยบายพัฒนาโครงข่ายการขนส่งหลายรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ  และการจูงใจให้ผู้เดินทางและผู้ประกอบการขนส่ง เปลี่ยนรูปแบบการเดินทางและการขนส่งจากรถเป็นรางให้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่อย่างไรก็ตามนำขยะพลาสติกมาใช้ในการก่อสร้างถนน ภายใต้ความร่วมมือของหลายภาคส่วน จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการสร้างถนนที่ยั่งยืนของประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ขอร่วมสนับสนุนการดำเนินการและความร่วมมือนี้เพื่อนำมาปรับใช้กับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคมให้เหมาะสมในอนาคตต่อไป”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาขยะพลาสติก และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกที่ใช้แล้วในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งโครงการถนนพลาสติกนี้ ได้ริเริ่มครั้งแรกโดยบริษัทสมาชิกของ ส.อ.ท.และพันธมิตร ได้แก่ เอสซีจีซี (SCGC) ดาว (DOW) อมตะ SC Asset และ เซเว่นอีเลฟเว่น จนทำให้ได้รับการสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ในการต่อยอดการศึกษาครั้งนี้ เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายผลได้และช่วยแก้ปัญหาของขยะพลาสติกได้อย่างยั่งยืน”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมว่า “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนพัฒนาโครงการถนนพลาสติกมาโดยตลอดและมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือที่จะพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม ผ่านงานวิจัยต่าง ๆ ซึ่งเรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมโครงการในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์เรื่ององค์ความรู้ แต่ยังเป็นการพัฒนาแนวทางที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้อีกทางหนึ่งด้วย”

Mr. Nicholas Kolesch Vice President of Projects (ผู้บริหารระดับสูงของ AEPW) เผยว่า “ในฐานะที่ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เป็นองค์กรความร่วมมือระดับโลกเพื่อลดปัญหาพลาสติกใช้แล้ว เรามั่นใจว่า ความรู้ ความสามารถ และทักษะการบริหารงานขององค์กรในประเทศไทยที่เราสนับสนุนเงินทุนและร่วมทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการ การสร้างโมเดลการจัดการขยะพลาสติกในชุมชน ตลอดจนงานวิจัยด้านวิชาการนั้น ล้วนมีศักยภาพที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กรในการจัดการขยะพลาสติกไม่ให้หลุดรอดไปสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์โลกนี้ให้พัฒนาไปในทางที่ยั่งยืน”

ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจากนายเจริญชัย ประเทืองสุขศรี ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส.อ.ท. ดร. วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และในฐานะเป็นเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ BCG และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน และนายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติกและฝ่ายเลขานุการโครงการ PPP Plastics ที่ได้ร่วมงานแถลงผลการศึกษานวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลและการดำเนินโครงการระยะที่ 2 ในครั้งนี้ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “ผลการศึกษาของโครงการฯ ระยะที่ 1 และข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอด” เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจได้รับทราบผลการวิจัยจากการดำเนินโครงการระยะที่ 1 พร้อมทั้งแบ่งปันองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนางานวิจัยด้านการเพิ่มความแข็งแรงของถนน โดยสร้างจากขยะพลาสติกผสมกับยางมะตอย ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปัญหาในการจัดการขยะแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสร้างถนน และไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมภายหลังอีกด้วย

โครงการศึกษานวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิล ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Recycled Plastics in Roads Study) เป็นโครงการที่คณะทำงาน PPP Plastics ภายใต้ ส.อ.ท. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับเงินสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารและดำเนินโครงการ (Project Management) โดยสนับสนุนการจัดทำการศึกษาเรื่องการนำเศษพลาสติกที่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบในการสร้างถนนยางมะตอยในประเทศไทย โดยมีผู้ทำการวิจัยหลัก คือ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำองค์ความรู้นี้ไปขยายผลได้ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG ของทางภาครัฐและแผนที่นำทาง (Roadmap) การจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย

สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย http://www.ftipc.or.th/th/contact

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น