วันที่ 19 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จังหวัดนราธิวาส พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 4/2565 โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรายงานผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ได้รายงานการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำจังหวัดนราธิวาสว่า ลุ่มน้ำหลักของจังหวัดนราธิวาสประกอบด้วย 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ 1.ลุ่มน้ำสายบุรี 2.ลุ่มน้ำบางนรา 3.ลุ่มน้ำโก-ลก มีพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งสิ้นประมาณ 4.2 ล้านไร่ และปริมาณฝนเฉลี่ย 2,400 มิลลิเมตร/ปี มีปริมาณน้ำท่า เฉลี่ยปีละ 9,600 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

โดยมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ตั้งแต่ปี 2517 จนถึงปัจจุบัน แบ่งเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ โครงการชลประทานขนาดกลาง(โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 เช่น โครงการชลประทานมูโนะ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา และโครงการพรุบาเจาะ-ไม้แก่น) และโครงการชลประทานขนาดเล็ก กระจายอยู่ในพื้นที่ 13 อำเภอ รวม 675 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 284 โครงการ 2.โครงการหมู่บ้านป้องกันตนเอง 23 โครงการ และ 3.โครงการชลประทานขนาดเล็กที่โอนให้ท้องถิ่น 368 โครงการ ที่ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรให้กับประชาชน ปัจจุบันกรมชลประทานได้ใช้คลองระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และอาคารชลประทานต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ รวมถึงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ สำหรับการเตรียมความพร้อม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการอย่างเคร่งครัด โดยในส่วนของหลักการ 5 แนวทางปฏิบัติ กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ ดังนี้ 1.เก็บกักเต็มประสิทธิภาพ 2.คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง 3.หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง 4.ระบบชลประทานเร่งระบาย 5.Standby เครื่องจักร เครื่องมือ ด้านสถานการณ์น้ำ 3 ลุ่มน้ำหลัก ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัจจุบัน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกลุ่มน้ำ อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมในทุกด้านเพื่อรับมือ หากเกิดปัญหาอุทกภัยปี 2565 อย่างเต็มศักยภาพเพื่อลดผลกระทบและเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังได้ทำการซ่อมแซมและปรับปรุงประตูระบายน้ำมูโนะ และการเพิ่มประสิทธิภาพเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำโก-ลก โดยแบ่งเป็น 3 จุด ระยะทางรวม 2,377 เมตร ได้แก่ 1.ปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก ระยะที่ 1 ระยะทาง 845 เมตร 2.ปรับปรุงพนังกั้นน้ำแม่น้ำโก-ลก ระยะที่ 2 ระยะทาง 1,532 เมตร และปรับปรุงประตูระบายน้ำปากคลองมูโนะ 3.ก่อสร้างอาคารระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ปากคลองระบายน้ำมูโนะ โดยได้เริ่มดำเนินงานไปตั้งแต่ต้นปี 2565 และคาดว่าจะแล้วเสร็จทุกโครงการในปี 2567 เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถป้องกันน้ำท่วมชุมชนตลาดมูโนะในฤดูน้ำหลากได้ถึง 650 ครัวเรือน

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น