สทนช. ลงพื้นที่อุบลฯ-ยโสธร ติดตามสถานการณ์น้ำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน 65 พร้อมเร่งรัดผลศึกษาแผนหลัก “แนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง” แก้ปัญหาท่วม-แล้ง ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่างอย่างยั่งยืนคาดศึกษาแล้วเสร็จ ก.ย.นี้ ด้าน “กอนช.” ออกโรงเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลในช่วงฝนตกหนักวันที่ 22–25 สิงหาคม 65 นี้  เร่งทุกหน่วยงานหามาตรการสกัดน้ำไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชน

นายสราวุธ  ชีวะประเสริฐ   รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำชีล่างและมูลตอนล่าง จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง- เซบาย-เซบก และลุ่มน้ำมูลตอนล่างเป็นพื้นที่ประสบกับปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอยู่ในเกณฑ์สูง สทนช. จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาแผนหลักเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบในพื้นที่ 8.94 ล้านไร่ ครอบคลุม 395 ตำบล 50 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษและอุบลราชธานี ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่ตลอดสองฝั่งลำน้ำชี ลำน้ำมูล ลำเซบาย ลำเซบกและลำน้ำสาขา ประสบปัญหาอุทกภัยทุกปีเนื่องจากแม่น้ำมีลักษณะแคบ ทำให้เกิดน้ำไหลบ่าล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำชี โดยเฉพาะด้านท้ายน้ำเป็นประจำเกือบทุกปี ส่วนในลำน้ำมูลทางตอนปลายของแม่น้ำมักเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูลในพื้นที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากแม่น้ำชี แม่น้ำมูล ลำเซบาย รวมทั้งลำน้ำสาขาอื่นของแม่น้ำมูล

ดังนั้น จากผลการศึกษาสภาพปัญหาหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างและลุ่มน้ำมูลตอนล่าง พบว่า โครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานปกติของหน่วยงานและโครงการเสนอเพิ่มเติมตามแผนที่วางไว้ในระยะ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ทั้ง 6 ด้าน รวมกว่า 9,300 โครงการ สามารถเก็บกับน้ำเพิ่มได้ 1,400 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 5.55 ล้านไร่ โดยพบว่าโครงการที่มีประสิทธิภาพสูงในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนและเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุนในฤดูแล้ง คือ โครงการแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ และสอดคล้อง กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด จะทำให้พื้นที่น้ำท่วมส่วนที่เกินจากผังน้ำ 3.7 แสนไร่ ลดลงอีก 1.9 แสนไร่  โดยผันน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี ที่ระบายผ่านเขื่อนยโสธร-พนมไพรออกก่อนที่จะเข้าไปท่วมตัวเมืองทางด้านล่าง ไปเสริมน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่เกษตรกรรมฝั่งขวาใต้คลองผันน้ำที่มักประสบปัญหาภัยแล้งได้ในช่วงฤดูฝน 2.2 ล้านไร่ และ ช่วงฤดูแล้ง 0.22 ล้านไร่

สำหรับแนวผันน้ำชี-เซบาย-เซบก-ตุงลุง-แม่น้ำโขง มีจุดรับน้ำอยู่ด้านเหนือเขื่อนยโสธร ทำการผันน้ำส่วนเกินของแม่น้ำชี ไประบายลงสู่แม่น้ำมูลด้านท้ายเขื่อนปากมูล รวมความยาว 180 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 แม่น้ำชี–ลำเซบาย ช่วงที่ 2 ลำเซบาย–ลำเซบก–ห้วยขุหลุ และ ช่วงที่ 3 ห้วยขุหลุ–ห้วยตุงลุง–แม่น้ำมูล อย่างไรก็ตามการดำเนินโครงการ เป็นการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำหลัก คือ การผันน้ำจากลุ่มน้ำชีไปยังลุ่มน้ำมูลจึงต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนพัฒนาโครงการในขั้นตอนต่อไป

รองเลขาธิการ สทนช.กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีล่าง-มูลล่าง ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่มีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในฤดูฝนทุกพื้นที่ โดยมอบหมาย สทนช.ติดตามผลการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงาน ภายใต้ กอนช. ในการเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งพบว่าสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำมูลตอนล่าง จ.อุบลราชธานี บริเวณสถานี M7 ในปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับเตือนภัยประมาณ 2 เมตร ภาพรวมสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำตลิ่งแม่น้ำมูล ซึ่งกรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการน้ำและการจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและลุ่มน้ำมูล ในช่วงฤดูน้ำหลาก โดยการลดน้ำหลากจากตอนบน ชะลอการระบายน้ำ เร่งระบายน้ำท้ายน้ำล่วงหน้าเพื่อลดความเสี่ยง เกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อนยโสธร เขื่อนธาตุน้อยและลำน้ำมูลน้อยที่สุด รวมทั้งการผันน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่งลำน้ำชี-ลำน้ำมูลเพื่อช่วยบรรเทาน้ำท่วม และประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวได้ประโยชน์จากมีน้ำต้นทุนไว้ใช้ในการเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป จากนั้นยังได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร ตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 ได้แก่ การตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ การเตรียมความพร้อมแผนป้องกัน แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องจักรพร้อมใช้งาน และตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงและปรับปรุงซ่อมแซมพนังกั้นน้ำชีให้มีสภาพดีพร้อมใช้งานอีกด้วย “ล่าสุดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 24 – 29 สิงหาคม 65 ที่ผ่านมาพบว่าในหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 0.50 – 1.00 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาไหลหลากเข้าท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำเกษตรกรรม พื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ และพื้นที่ชุมชนในบริเวณ  2 ลุ่มน้ำในภาคอีสานดังนี้คือ ลุ่มน้ำชี เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำชี บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานีและเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  ลำน้ำยังบริเวณอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ลำปะทาวบริเวณอำเภอเมืองชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิและลุ่มน้ำมูลเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง แม่น้ำมูลบริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี ลำเซบก บริเวณ อำเภอม่วงสามสิบ ดอนมดแดง และตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณ อำเภอน้ำยืน นาจะหลวย บุณฑริก เดชอุดม นาเยีย และพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี” นายสราวุธ  กล่าว

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น