ช่วงนี้เกิดอะไรขึ้น รัฐบาลออกมาป่าวประกาศว่าทำนโยบายหลายเรื่องเพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทย ตามเป้าหมายผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 ทำให้ต้องย้อนกลับไปอ่านข่าวช่วงที่ผ่านมา ทำให้ถึงบ้างอ้อ…เพราะมีการออกตัวแรงทั้งเจ้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน และ ได้ เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมงคนใหม่มาขับเคลื่อนแผนดังกล่าว ประชุมกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ล่วงเลยไป 4 เดือน นโยบายยังล่องลอยอยู่ในอากาศ เกษตรกรรอไม่ไหวต้องทวงถาม เมื่อไหร่จะได้เห็นแผนฟื้นฟูที่เป็นรูปธรรมของกรมประมง “คลอด” เพราะช่วงเวลานี้ไม่ใช่ขั้นตอนการเก็บข้อมูลหรือระดมสมองเพื่อจัดทำ Big Data อีกต่อไป แต่มันคือช่วงของการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการระบาดของโรคตายด่วน (AHPND/EMS) ให้สำเร็จ แล้วเดินหน้าสู่การเพิ่มผลผลิต ส่งเสริมศักยภาพของไทยเพื่อแข่งขันในเวทีโลกทวง “บัลลังก์แชมป์” กลับมา

ประเด็นสำคัญที่เกษตรกรคับข้องใจ คือ 2 ปีที่ผ่านมาที่ไทยเจอมรสุมโรค EMS จนเกษตรกรต้านไม่ไหว ผลผลิตลดลงมาก แต่รัฐไม่ได้ยืนมือเข้าช่วยเหลือ เหตุใดมีการออกข่าวโดยสำนักข่าวต่างประเทศ และอ้างรัฐบาลเอกวาดอร์ ขณะที่ในเมืองไทยเงียบกริบ เหมือนลักไก่นำเข้ามา…เหตุใดทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ พร้อมกันเทใจให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ทั้งที่ 2 ประเทศ เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกเช่นเดียวกับไทยแต่ต่างกันที่คุณภาพ เพราะกุ้งไทยบินสูงอยู่ในกลุ่มตลาด “พรีเมี่ยม” เป็นที่รับรู้และยอมรับจากผู้นำเข้าและผู้บริโภคทั่วโลกมานานละ แม้กรมฯจะให้เหตุผลว่านำเข้ามาเพื่อแปรรูปและทำการส่งออก (Re-export) ไม่มีผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเทศไทย ไม่เคยเอื้อเฟ้อไทยอย่าง แต่ไทยเสนอนำเข้าวัตถุดิบของเขามาทำผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออก ทำลายความน่าเชื่อถือในฐานะประเทศผู้ส่งออกกุ้งชั้นนำระดับโลก และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้านคุณภาพของกุ้งไทยที่ใส่ใจรอบด้าน ทั้งกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน

พื้นที่เลี้ยงกุ้งใหญ่ที่สุดของประเทศอยู่ทางภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ แต่มิใยยังนำเข้ามา ส่งผลกระทบต่อราคาแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้ มองต่างมุมที่กรมฯ ออกโรงว่าการนำเข้าครั้งนี้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp Board ให้ห้องเย็นและโรงงานแปรรูป (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายเดียวกัน) นำเข้าด้วยมาตรการที่รัดกุมก็ตาม แต่เป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจ เพราะเงินตราไหลออก แทนที่มูลค่าเพิ่มของสินค้าจะอยู่ในประเทศจากการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) 100% มีสำคัญมาใช้ชื่อประเทศไทยส่งออกสร้างมูลค่าให้กับ

กุ้งเป็นสินค้าที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมาก แต่เกิดการขาดแคลนเนื่องจากปัญหาโรค EMS ที่ กรมฯยังไม่สามารถแก้ไขได้ โดยในในปี 2553 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด คือ 437,270 ตัน มูลค่าสูงถึง 101,116 ล้านบาท แต่ในปี 2564 มีปริมาณการส่งออกลดลงเหลือเพียง 201,592 ตัน มูลค่า 55,893 ล้านบาท หรือลดลง53.90% และ 44.72% ตามลำดับ ซึ่งเป็นที่มาของเป้าหมาย 400,000 ตัน ในปี 2566

ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย อดีตนายกสมาคมกุ้งไทย ให้ข้อคิดไว้อย่างน่าสนใจเมื่อเดือนมกราคม 2565 ว่า หากไทยสามารถสร้างผลผลิตกุ้งได้อย่างเพียงพอบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้ากุ้ง เพราะมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่อาจเข้ามาซ้ำเติมเกษตรกร ขณะเดียวกันมูลค่าเงินที่เสียไปกับการนำเข้าจะหมุนเวียนอยู่กับเกษตรกรในประเทศ และเกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยมากกว่า ฉะนั้น เราจำเป็นต้องจัดการปัญหาโรคระบาด รวมทั้งต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง รวมถึงคลี่คลายอุปสรรคทางการค้า เช่น สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญสูงสุด

วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ดูการตลาด ส่วนกระทรวงเกษตรฯ ดูการผลิตและมี Shrimp Board เป็นแรงหนุน ควรทำหน้าที่วางยุทธศาสตร์และกระจายนโยบายสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมและโปรงใสให้เกิดธรรมภิบาลกับทุกฝ่าย อย่า “ถือหาง” ให้ผลประโยชน์ไปตกกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และโยนบาปให้กับเกษตรกรและประเทศชาติ อย่างกรณีกุ้งนี้ สำคัญคือบริหารจัดการโรคให้ได้ และ ทำตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้กับเกษตรกรโดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อ รัฐต้องออกโรงและออกแรงให้มากกว่านี้ ให้เกษตรกรสามารถฟื้นการผลิตได้รวดเร็ว เพื่อเพิ่มผลผลิตกุ้งคุณภาพดีในการทวงบัลลังก์โลกกลับคืนมา จากนี้ไปจะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยต้องจับตาดูบทพิสูจน์ศักยภาพของทั้งสองกระทรวงและรัฐบาล ว่าคนไทยสมควรจะไว้วางใจไปต่อหรือไม่

สมสมัย หาญเมืองบน รายงาน

By admin

สนใจโฆษณาติดต่อ คุณจันทร์แรม โทร 0917233792

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

ข่าวเด่น